สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการอะไร จนกว่าจะเกิดโรคแทรกแล้วการติดตามจึงจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยได้รับการตรวจความดันโลหิตเบื้องต้นเมื่อเข้ารับการรักษาหรือตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลนั่นเอง แต่ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถตรวจวัดความดันได้เองที่บ้านโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลบ่อยๆแล้ว โดยการใช้เครื่องวัดความดัน แบบอัตโนมัติวัดเองที่บ้านได้ซึ่งสะดวกและใช้งานได้ง่าย ไปดูวิธีการใช้งานเครื่องวัดความดันและการอ่านค่าความดันโลหิตกันค่ะ
เตรียมตัวก่อนวัดความดันโลหิต
1. งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ก่อนวัด 30 นาที และควรนั่งพัก 5 นาที ก่อนเริ่มวัด
2. พันผ้าพันแขนให้ถูกต้อง วัดความดันโลหิตที่แขนซ้าย(หรือข้างที่ไม่ถนัด) จากนั้นสวมปลอกแขนที่บริเวณต้นแขน ให้จุดรับสัญญาณอยู่ตรงกลางท้องแขนด้านใน เหนือข้อพับประมาณ 2 - 3 ซม. ติดเทปที่ปลอกแขนให้พอดีกับขนาดแขนไม่หลวมหรือแน่นเกินไป
3. วางแขนที่วัดให้ราบบนโต๊ะ ไม่กำมือ ให้ผ้าพันแขนอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ
ข้อมูลเกี่ยวกับความดันโลหิต
ค่าความดันโลหิต (Blood Pressure) คือค่าที่แสดงความดันของโลหิตในร่างกายมี 2 ค่า คือค่าบน (Systolic Pressure) และค่าล่าง (Diastolic Pressure) มีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตรปรอท ค่าบน คือค่าความดันที่อยู่ในหลอดเลือดแดง ขณะที่หัวใจสูบฉีดเลือดอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นกล้ามเนื้อหัวใจจะผ่อนคลายชั่วครู่ ให้ค่าแรงดันมีกำลังอ่อนลงที่สุด ซึ่งค่าที่ได้ก็คือ ค่าล่าง นั่นเอง
ค่าความดันโลหิต
- ความดันโลหิตปกติ คือ 90 - 119 / 60 - 79 มม.ปรอท
- ความดันโลหิตในผู้มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง คือ 120 - 139 / 80 - 89 มม.ปรอท
- โรคความดันโลหิตสูงระยะ 1 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 140 - 159 / 90 - 99 มม.ปรอท
- โรคความดันโลหิตสูงระยะ 2 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง ตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป
- โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องพบแพทย์ใน 24 ชั่วโมง คือ ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 180/ 110 มม.ปรอทเป็นต้นไป เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาจจากโรคหัวใจล้มเหลว สมองสูญเสียการทำงาน และ/หรือไตล้มเหลว
- โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน คือความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 220/140 มม.ปรอทขึ้นไป เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต (ตาย) ได้ จากการทำงานล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง และไต
การติดตามความดันโลหิตโดยวิธีวัดความดันเองที่บ้าน จะเป็นผลดีทั้งต่อผู้ป่วยด้านการควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และกับผู้ที่ยังไม่เป็นความดันโลหิตสูงในแง่การป้องกัน การตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้นสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตาได้ สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงแนะนำว่าควรมีเครื่องวัดความดันติดบ้านไว้ดีกว่านะคะ
Comments
Post a Comment